Tuesday, July 25, 2006

Existence Theorem

(ก่อนอื่น ขอขอบคุณเพื่อนเฮ้งที่ส่งบทความดีๆมาให้อ่าน)

นักคณิตศาสตร์/นักวิทยาศาสตร์ เรียกการพิสูจน์ที่แสดงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์อันหนึ่งอันใดว่า Existence Theorem

เหตุการณ์ในญี่ปุ่นที่คัดลอกมาจากบทความของคุณอุดร ตันติสุนทร และในเกาหลีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็น "Existence Theorem" ของการเมืองที่ไม่จัญไร ไม่ทำลายชาติ

เราต้องฝันก่อนว่า การเมือง "อจัญไร" นั้นเป็นไปได้ เราถึงจะมีโอกาสที่จะมีสิ่งนั้น

ถ้ามัวแต่บ่นว่านักการเมืองคนไหนก็เลวไปหมดแล้วก็หมดกำลังใจ ไม่ทำอะไร ตอนลูกเราแก่เท่าเราก็ต้องมาบ่นเหมือนเดิม แต่จะลำบากกว่าเราอย่างแสนสาหัส

อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนธรรมชาติแต่ละคนไม่ค่อยจะได้ แต่ทำให้ต้นทุนในการทำชั่วสูงพอที่จะไม่คุ้มที่จะทำชั่วได้ (โอกาสถูกจับ x ความแรงของการลงโทษ > ผลตอบแทนในการทำชั่ว)

โครงการนี้อาจใช้เวลานับสิบปี แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่งั้นประเทศชาติจะตาย อาจจะยังมีชื่ออยู่ แต่ลักษณะความเป็นอยู่ของประชาชาชนจะเลวร้ายกว่านี้อีกมาก

เรามี Existence Theorem ของประเทศที่เหมือนนรก (เมื่อเทียบกับประเทศไทย)มากมาย

เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์บ้าง

---
ญี่ปุ่นปฏิรูปการเมือง โดย ปฏิรูปนักการเมือง สำเร็จแล้ว
โดย อุดร ตันติสุนทร

แต่ก่อนนี้ นักการเมืองญี่ปุ่นหาคะแนนนิยมจากราษฎร โดยวิธีแจกเงิน แจกของ ของขวัญวันเกิด วันแต่งงานแจกหมด เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ถอนทุน โดยได้รับสัมปทานต่างๆ จากนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเช่นนี้มานาน จนเป็นประเพณี


นักวิชาการต่างพากันอ่อนใจ ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร

ต่อมานายกรัฐมนตรีทานากะ ซึ่งมีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 12 บริษัท รวยอยู่แล้ว ถูกจับเพราะกินเปอร์เซ็นต์ของบริษัท ล๊อคฮีท ในการอนุมัติซื้อเครื่องบิน Lockhead L1011 เงินเปอร์เซ็นต์ 1.8 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน นายเฮนรี่ คิสซิงเกอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็วิ่งเต้นกรรมาธิการของสภาสหรัฐ แต่ยับยั้งไม่ได้ นายทานากะถูกศาลสั่งจำคุก 4 ปี เมื่อ 12 ตุลาคม 1983 เขาอุทธรณ์ ระหว่างอุทธรณ์ก็ตายเสียก่อน

เมื่อปี 1989 นายทาเคชิตะ เป็นหัวหน้าพรรค LDP ของญี่ปุ่นได้เสียงข้างมากในสภา จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี
การเป็นหัวหน้าพรรคต้อง "เลี้ยงดู" ส.ส.ลูกพรรค โดยแอบแฝงมาในการให้หัวหน้ากลุ่ม ได้รับสิทธิสัมปทานต่างๆ ของรัฐบาล แล้วไปแจกแก่ลูกพรรคอีกต่อหนึ่ง


ต่อมา บริษัท รีครู้ท ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ขายหุ้นให้แก่เลขาฯ ภรรยา ลูกนักการเมืองในราคาต่ำสุด และเมื่อราคาหุ้นสูงขึ้นก็ได้กำไร โดยไม่ต้องเสียภาษี เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

กรรมาธิการพรรคสังคมนิยม ได้ตรวจพบวิธีการหาเงินให้ลูกพรรคของนายทาเคชิตะ จึงทำการสอบสวน

นายทาเคชิตะยอมรับผิด เขาแจ้งต่อกรรมาธิการว่า จะรีบออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปนักการเมืองโดยเร็วต่อไป แต่กรรมาธิการไม่เชื่อ
ต่อมาเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากสื่อทั่วไป นายทาเคชิตะก็ละอายและได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนเมษายน ปี 1989


ประชาชนญี่ปุ่นเริ่มตื่นตัวและเห็นพ้องต้องกันว่า การซื้อเสียงเป็นความอัปยศของชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ ต้องปฏิรูปนักการเมืองโดยด่วน

ต่อมามี ส.ส.หนุ่มกลุ่มหนึ่ง นำโดย ส.ส.ฮาตะ ได้ร่วมกันเสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งใหม่ และผ่านสภาได้เป็นผลสำเร็จ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะถือว่าเป็นผู้มีภาวะเป็นผู้ใหญ่แล้ว

2.ห้ามแจกเงิน แจกของ หรือกระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางหาคะแนนนิยม โดยการเอาใจราษฎรในทางที่ผิดทำนองคลองธรรม ทั้งนี้ ทั้งเวลาก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

3.โปสเตอร์มีได้ขนาดเดียว 42x42 ซม. และต้องไปปิดไว้ที่แผ่นป้ายของ กกต.เท่านั้น ปิดที่อื่นผิดกฎหมาย

4.การปราศรัยหาเสียง ให้ทำได้ในที่ชุมชนหรือห้องประชุม จะโฆษณาไปตามท้องถนนไม่ได้ผิดกฎหมาย

5.ระยะเวลาในการหาเสียง เลือก ส.ว./ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เวลา 17 วัน, นายกเทศมนตรี 14 วัน, ส.ส. 12 วัน ที่ให้เวลาน้อย เพราะเขาถือว่า คนดีนั้น เขาเป็นผู้ทำดีมาโดยตลอด ไม่ใช่ดีตอนหาเสียง

6.ให้มีศาลเลือกตั้ง คดีเลือกตั้ง เป็นคดีอาญา ยอมความไม่ได้

7.ผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมายให้รวมถึงผู้เกี่ยวข้องด้วย เช่น ญาติพี่น้อง, เลขาฯ, ที่ปรึกษา (Joint reponsibility) ถูกลงโทษหมด แล้วแต่ใครเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด ก็รับโทษเท่านั้น

8.ผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต้อง "เข้าคุก" อย่างเดียวไม่มีการปรับ

โดยสรุป ขอเสนอดังนี้

1.ให้เปลี่ยนคำว่า ปฏิรูปการเมือง เป็น ปฏิรูปนักการเมือง

2.ให้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง โดยด่วน โดยให้มีหลักสำคัญ 8 ประการ แบบญี่ปุ่นและให้ออกเป็นพระราชกำหนด


No comments: