Sunday, July 12, 2009

วัดธรรมกายเอาเด็กมารวมกันเป็นแสนคน ขณะที่ประเทศไทยกำลังหาทางควบคุมโรคหวัดสายพันธ์ุใหม่

ผมกำลังติดตามสถานการณ์โรคหวัดสายพันธ์ุใหม่อยู่ แม้ว่าความคิดผมคือเราคงจะป้องกันการระบาดได้ยากมาก แต่ก็น่าจะมีทางยืดเวลาการระบาดเต็มที่ให้นานออกไป (นานจนนักวิทยาศาสตร์พบว่าจะมีทางสร้างวัคซีน หรือเข้าใจตัวไวรัสได้มากขึ้นจะได้ลดความรุนแรงลง) ถ้าเราไม่ทำอะไรโง่ๆ เช่นนำคนจำนวนมากจากทั่วประเทศมาอยู่รวมกัน โดยที่คนเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อ แล้วส่งพาหะเหล่านี้กลับไปที่ต่างๆทั่วประเทศ

ปรากฏว่าวัดธรรมกายทำอย่างนั้นเป๊ะเลยครับ

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าคอนเสิร์ตเอาคนมารวมกัน 20,000 คนแล้วมีคนติดโรคแล้วตาย 1-2 คน (ดังข่าวสัปดาห์ที่แล้ว) วัดธรรมกายเอาคน 400,000 คนมารวมกัน คนจะตายกี่คน ผมประมาณแบบหยาบๆ (หยาบมากๆ) พอให้ได้ idea ว่าคำตอบน่าจะอยู่ระหว่าง best case และ worst case โดยที่ best case คือคนที่มีเชื้อยังไม่มีเวลาพอที่จะแพร่ให้คนส่วนใหญ่ และ worst case คือมีเวลาพอที่จะมีการผสมปนเปกันไปหมดระหว่างคนที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อ

ใน best case ผมประมาณว่าถ้ามีคนส่วนใหญ่ยังไม่ติดเชื้อ จำนวนคนที่ตาย น่าจะแปรผันตรงกับ จำนวนคนที่มีเชื้อที่มาร่วมงาน คูณกับค่าคงที่ ซึ่งปริมาณคนที่ติดเชื้อที่มาร่วมงานก็แปรผันตรงกับจำนวนคนทั้งหมด ดังนั้น คนมารวมกัน 400,000 คนก็น่าจะมีคนตายเป็น 400,000/20,000 = 20 เท่าของคนรวมกัน 20,000 คน = 20 x (ตาย 1-2 คน) = ตาย 20-40 คน

ใน worst case ผมประมาณว่าถ้ามีคนส่วนใหญ่ยังไม่ติดเชื้อ จำนวนคนที่ตาย น่าจะแปรผันตรงกับ จำนวนคนที่มีเชื้อที่มาร่วมงาน คูณกับจำนวนคนยังไม่ติดเชื้อที่มาร่วมงาน โดยที่จำนวนทั้งสองก็ต่างแปรผันตรงกับจำนวนคนทั้งหมด ดังนั้น คนมารวมกัน 400,000 คน ก็น่าจะมีคนตายเป็น (400,000/20,000)(400,000/20,000) = (20)(20) = 400 เท่าของคนรวมกัน 20,000 คน = 400 x (ตาย 1-2 คน) = ตาย 400-800 คน

การป้องกันระวังตัวมากขึ้นเป็นการลดขนาดค่าคงที่ในอัตราการแปรผันตรงเท่านั้น และเนื่องจากการชุมนุมที่วัดนานกว่าระยะเวลาคอนเสิร์ตหลายเท่า ผมจึงคิดว่าสิ่งที่วัดบอกว่าได้ระมัดระวังอย่างมากแล้ว ก็คงไม่สามารถลดการแพร่เชื้อจนเป็นศูนย์ได้

แน่นอนคำตอบที่ใกล้ความจริง ต้องใช้แบบจำลองที่ละเอียดและถูกต้องมากกว่านี้ แต่การประมาณหยาบๆก็ให้ idea คร่าวๆกับเราได้ จำนวนคนเป็นสิบ หรือร้อย (หรือแม้แต่เพียงคนเดียว) ที่จะตายจากเหตุการณ์ไม่เข้าท่าแบบนี้ ก็เป็นการตายที่ไม่จำเป็นอย่างยิ่ง (เพราะหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้ใหญ่ไม่ไปบังคับเด็กให้มาร่วม)

ในฐานะที่ผมค่อนข้างจะเชื่อว่าคำสอนในพุทธศาสนาเป็นคู่มือการใช้สมองสำหรับ Homo sapiens ที่น่าจะเข้าท่ามาหลายศตวรรษแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพระผู้ใหญ่นั่งรถเบนซ์ทั้งหลายจึงตามบี้สันติอโศก แต่ปล่อยให้ธรรมกายทำเรื่องหลายๆเรื่องที่ไม่เข้าท่าอย่างนี้ เป็นผลจากอามิสหรือเปล่า (นักวิทยาศาสตร์มักจะพูดว่า "ค่อนข้าง" และ "น่าจะ" เพราะพวกเราถูกฝึกมาให้รู้ว่าเรารู้น้อยแค่ไหน และค้นหาความจริงในธรรมชาติได้ยากแค่ไหน และเราไม่ควรแต่งเรื่องมาหลอกผู้คน (+ห้ามใครเถียงด้วย!) เมื่อเรายังไม่ค้นพบว่าความจริงมีหน้าตาคล้ายๆแบบไหน)

มีความเห็นในข่าวที่ผมไปอ่าน ที่ผมเห็นด้วยแต่ไม่มีปัญญาเขียนได้ จึงขอคัดลอกมาดังนี้ :

ความคิดเห็นที่ 44

จุดประสงค์ของการปฏิบัติธรรมก็เพื่อการละคลาย หลุดพ้นออกจากสังสารวัฏ ออกจากความวุ่นวายและลักษณะทางโลก ออกจากหัวโขนและตำแหน่ง ออกจากอันดับและการลำดับชั้น ออกจากชื่อเสียงและเกียรติยศ

จะสังเกตได้ชัดๆว่าสำนักที่เห็นผิดโดยอ้างว่าช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.สำนักนั้นเน้นความเป็นใหญ่ ความเป็นอันดับ1

สิ่งนี้คือ ทิฏฐิมานะและอัตตา ความยึดมั่นในชื่อเสียงและความอลังการของ"ตัวตน" แท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นเพียงบัญญัติสมมุติเท่านั้น จริงอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครจะหลุดพ้นจากตัวตน เพราะเป็นธรรมที่ทวนกระแสโลก แต่หากผู้เผยแผ่ธรรมะหรือเจ้าสำนักต่างๆ ทำตัวเป็นผู้ส่งเสริมตัวตนหรืออัตตาซะเอง จะกล่าวไปใยถึงเหล่าปุถุชนที่เดินตาม

ท่านรู้ไหม ผู้ที่กล่าวประโยคที่ว่า
"อันตัวข้าพเจ้าเป็นดั่งผ้าเช็ดธุลี" คือใคร
ตอบ ท่านพระสารีบุตร ผู้ที่มีปัญญารองจากพระพุทธเจ้า
ท่านคือหนึ่งในยอดของพระอรหันตสาวก แต่ดูสิท่านกลับเป็นผู้ที่ไม่ถือตัวว่ายิ่งใหญ่ หรือถือตัวว่าเป็นผู้เลอเลิศ

ดังนั้นสำนักใดใครว่าอะไรนิดหน่อยก็ง้างคนอื่นขึ้นทุกประเด็นโดยมิรับฟังเหตุผลที่สมควร หรือมิยอมที่จะลงให้กับผู้ใดเพราะถือตนว่าเป็นที่1
ขอให้ทราบไว้ว่า นั่นเป็นวิสัยของพญามาร

2.สำนักนั้นมีการเรี่ยไรเงินทองอยู่เป็นนิตย์

ถ้าหากมั่นคงในผลของกรรมแล้ว การจะได้เงินมาบำรุงสำนักหรือไม่ ก็อยู่ที่วิบากดีชั่วมิใช่หรือ ใยต้องทำผิดพระวินัยหรือทำในสิ่งที่ขัดกับแนวทางของพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์หรือคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล แม้การไปบิณฑบาต ก็มิใช่การขอหรือเรี่ยไร แต่เป็นการไปโปรดญาติโยมให้มีโอกาสทำบุญเจริญกุศล ท่านเหล่านั้นได้เพียงอาหารเพื่อให้อยู่รอดที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ การรับของท่านเหล่านั้น ปราศจากกามและเกียรติยศชื่อเสียงค้ำคอ

แม้การกินอยู่ของท่านเหล่านั้นยังเป็นไปเพื่อผู้อื่น มิใช่เพื่อชื่อเสียงหรือความเป็นใหญ่ของตน

3.สำนักนั้นตีค่าปริมาณของวัตถุให้เท่ากับค่าของบุญ

เป็นความเข้าใจที่ผิดและยังเอาความเข้าใจนี้ไปบอกต่อคนจำนวนมากให้เห็นผิดมากขึ้นไปอีก เคยมีเรื่องเล่าในสมัยหลังพุทธกาลไม่นานนัก ที่กล่าวถึงบุพกรรมของเทพบุตรองค์หนึ่งซึ่งมีวิมานและรัศมีเจิดจรัสกว่าใครเพื่อน จึงได้สอบถามว่าท่านได้กระทำกรรมอันใดมา ปรากฏว่าเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ท่านเป็นเพียงชาวนาที่ไม่มีโอกาสเจริญบุญกุศลเลย วันๆเอาแต่ทำนา แต่มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่กำลังนั่งพักกลางวันกำลังจะเอาข้าวอันน้อยนิดเข้าปาก ก็มีอีกาบินลงมาเกาะข้างๆแล้วมองหน้าชาวนาท่านนี้ ชาวนาท่านเมื่อเห็นสีหน้าอีกาก็รู้ว่าคงจะหิวมาก แต่ทำไงดีล่ะในเมื่อข้าวมีแค่อุ้งมือเดียว แต่ด้วยใจที่สละออก แม้มีน้อยก็ยังให้ได้ ท่านจึงสละข้าวนั้นให้แก่อีกา ด้วยคิดว่าตัวท่านน่าจะยังไหว แต่อีกาอาจจะตายแน่เพราะหุงหากินเองไม่ได้ แต่แล้วด้วยความเหนื่อยล้าและไม่ได้กินอาหาร ท่านจึงขาดใจตายตรงนั้น จึงยังผลให้ท่านเป็นเทพบุตรด้วยบุญสุดท้ายที่กระทำก่อนตายเพียงบุญเดียว แต่มีผลให้เสวยทิพยสมบัติหลายพันปี ด้วยจิตที่คิดสละออกนั่นเอง จะกล่าวไปใยถึงผู้ที่หมั่นเจริญบุญกุศลแท้ๆเป็นอันมาก สมดังกับพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่กล่าวทำนองว่า "หากสัตว์ทั้งหลายรู้ผลของทานเหมือนเรารู้แล้วไซร้ สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่บริโภคก่อนที่จะให้เลย"
ท่านลองนึกดูว่า แม้เพียงข้าวเพียงอุ้งมือเดียว แต่จิตใจนั้นยิ่งใหญ่ที่จะสละออกไป โดยไม่นึกถึงว่าตัวเองจะรอดหรือไม่ เป็นมหากุศลเพียงใด ดังนั้นคุณค่าของบุญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของวัตถุเสมอไป แต่อยู่ที่ใจหรือเจตนาที่เป็นกุศล ไม่ใช่โลภะที่ทำบุญเหมือนการลงทุนอะไรสักอย่าง ถ้าคิดแบบนี้ก็มีแต่จะขาดทุน เพราะอกุศลจิตเกิดแม้เพียง1ขณะจิต ก็มีผลงอกเงยสะสมเป็นผลของอกุศลในที่สุด

เมล็ดต้นมะม่วงปลูกลงไปในดิน ต้นของมันก็เจริญเติบโตขึ้นมาออกใบ ออกดอก ออกผล ฉันใดก็ฉันนั้น ผลของกรรมทั้งดีและชั่วย่อมให้ผลเกินตัว เพราะอกุศลจิตขณะที่กระทำชั่วหรือคิดอกุศลมีปริมาณที่มากแม้จะกระทำชั่วไปแค่ครั้งเดียว แต่ทำสิ่งใดย่อมได้ผลของสิ่งนั้นเสมอ

4.สำนักนั้นปฏิเสธพระไตรปิฎกโดยอ้างการปฏิบัติเพียงอย่างเดียว หรือบิดเบือนพระไตรปิฎก หรือ นำพระไตรปิฎกมาอ้างการปฏิบัติด้วยการตีความที่เข้าข้างความคิดเห็นของตนเองหรือมายามารที่ลวงให้เชื่อว่านั่นคือผลของการปฏิบัติ

เพราะพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพระศาสดา ดังที่พระพุทธพจน์ที่ทรงตั้งพระธรรมวินัยนี้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์มิได้ตั้งใครเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ มิได้สั่งว่าหลังจากปรินิพพานแล้วจะกลับมาหาอีก พญามารก็สามารถแปลงกายเป็นพระพุทธเจ้ามาหลอกผู้ปฏิบัติได้ หากไม่ตรวจสอบกับพระธรรมวินัย ก็ย่อมเป็นเครื่องมือของมารในการทำลายพระพุทธศาสนา ย่อมหลอกให้คนรุ่นหลังหลงเชื่อว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาหาจริงๆ หรือคิดว่าสามารถขึ้นไปเดินเล่นบนเมืองนิพพานได้ คิดว่านิพพานมีบ้านมีเมืองสวยงาม
(เป็นโลภะและโมหะ ที่พอใจหลงใหลไม่รู้สึกตัว)

สำนักใดที่นำพระไตรปิฎกมาบิดเบือนหรือพยายามตีความพระไตรปิฎกเพื่อเข้าข้างความคิดเห็นตนเอง ย่อมนำความหายนะมาสู่พระศาสนาเป็นอันมาก

5.สำนักนั้นมีวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง รวมทั้งมีการนำเครื่องรางของขลังออกมาปล่อยเช่าบูชาอยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้เป็นความวิบัติของพุทธศาสนิกชนและพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญของโลภะ ถ้าเป็นไปเพื่อการ"ได้" ไม่ใช่การ"ละ" ก็ย่อมหมายถึงการยืดสังสารวัฏให้ยาวออกไปอีก พระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์ต่างๆ แต่ละท่านก็มีคุณงามความดีให้ยึดถือและจดจำ นำไปปฏิบัติตาม มีพระธรรมคำสอนสืบต่อกันมาเพื่อให้ศึกษาให้เข้าใจและประพฤติตามธรรมอย่างสมควรแก่ธรรม เมื่อเพียรเช่นนี้จนมั่นคงแล้ว ท่านเรียกว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคน ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม หากมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แล้วยังต้องการมีรูปหรือวัตถุเป็นเครื่องระลึกถึง แม้เพียงรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์ตัดมาใส่กรอบก็ศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะอยู่ที่ใจว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนในการถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หากเริ่มเป็นการสะสมพระ หรือเล่นพระเมื่อไหร่ หรือเริ่มขออานิสงส์ขอความช่วยเหลือจากเครื่องรางหรือวัตถุมงคลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือวิบัติของศาสนาพุทธ เพราะนั่นไม่ใช่เจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการละคลายแม้แต่น้อย มีแต่ความต้องการซึ่งเป็นโลภะอย่างละเอียด

หวังว่าข้อความเล็กน้อยเหล่านี้
จะเป็นประโยชน์ต่อสาธุชนไม่มากก็น้อย

อดีตปทุมมา

No comments: